มิถุนายน 28, 2552

****พระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษา****

พระราชดำรัสฯ เกี่ยวกับการศึกษา

King02. . . วิธีที่จะทำให้คนเป็นคนดีนั้น ก็มีเช่น การศึกษา เมื่อก่อนนี้ ด้านการศึกษาคนในเมืองไทยนี่ มีความรู้ การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือเป็น มีมาก เปรียบเทียบกับประเทศอื่นค่อนข้างจะสูง คือมีการอ่านเขียนได้เปอร์เซ็นต์สูง แต่มาปัจจุบันนี้น้อยลง เพราะว่าคนเพิ่ม โรงเรียน หรือผู้ที่มีหน้าที่สอนน้อยลง เปรียบเทียบกัน อาจจะแย้งว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอนแพร่ออกไปได้มากกว่า แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรม ไม่มีอะไรแทนการบ่มนิสัย คือการสอนนี่มีแบ่งเป็นอบรม แล้วก็บ่มนิสัย แต่ถ้าไม่มีผู้ที่อบรม ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย หรือผู้ที่อบรม หรือผู้ที่บ่มนิสัย เป็นคนที่คุณภาพต่ำ ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อมคุณภาพต่ำเหมือนกัน อาจจะยิ่งร้ายกว่า แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง

เทคโนโลยีชั้นสูงนี้ คนส่วนมาก เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจ ว่ามีโทรทัศน์ มีดาวเทียม มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ว่าเครื่องเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูรูปร่างท่าทางเหมือนมีชีวิต แต่อาจจะไม่มีชีวิต มีสีก็มีสีได้ แต่ว่าไม่มีสัน. คือสีสันนั่นรวมแล้วมันครบถ้วน และยังไม่ครบ ยังไม่มีจิตใจ. อาจจะทำให้คนที่มีจิตใจอ่อนเปลี่ยนเป็นคนละคนก็ได้ แต่ว่าที่จะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุด ที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้

. . . ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน . . .

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

———————————————————————————————————-

King16. . . การสอนให้คนเก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดี ว่าสอดคล้องต้องกับสมัยเร่งรัดพัฒนา. แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคนให้เก่งเป็นเกณฑ์ อาจทำให้เกิดจุดบกพร่องต่างๆ ขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย. ที่สำคัญก็มี

ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้อง และล้มเหลว

ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือว่าตนเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน

ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่จะทำตัวให้เด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ

ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้ โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน

ผู้ที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวนี้ เห็นกันอยู่ว่ามักจับเหตุจับผล จับหลักการไม่ถูก. ส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาและความผิดพลาด ไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงแท้จริงให้แก่ตนแก่บ้านเมืองได้ตามเป้าหมาย. ดังนั้น นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย. ประเทศของเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือทั้งเก่งทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง กล่าวคือ ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่อำนวยผลเป็นประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว

พระราชดำรัส
ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ ๕ สถาบัน
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒

———————————————————————————————————-

King09. . . การที่เด็กสมัยนี้ ที่เรียกว่าเด็ก ๆ มีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่บางคน ก็มาจากการที่มีโอกาสได้เล่าได้เรียนในวิชาการมากขึ้น ถ้าเรียนในทางวิชาการมาก คือทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิทยาการต่าง ๆ ย่อมมีความคิดเกิดปัญญาขึ้นมา สามารถที่จะคิดในทางธรรมะมากขึ้น เมื่อคิดในทางธรรมะมากขึ้น คือมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าผู้ใหญ่ที่ผ่านชีวิตมาแต่ก่อนนี้ ย่อมเป็นผู้ใหญ่มาก . . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะผู้แทนองค์การศาสนา คณะครูและนักเรียน
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๓

———————————————————————————————————-

King17. . . วิชาการต่าง ๆ และความเป็นพลเมืองดี ที่สั่งสอนอบรมในโรงเรียนนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน ถ้าโรงเรียนฝึกหัดสั่งสอนวิชาการได้ดี ฝึกหัดให้รู้จักหน้าที่และความเป็นพลเมืองดีให้ได้ผลจริง ๆ พร้อมทั้งอบรมให้เลื่อมใสเข้าใจในศาสนาด้วย ก็นับว่าให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างครบถ้วน ซึ่งจะได้ผลดีแก่เยาวชนของเราอย่างมาก ความรู้วิชาการนั้น จะทำให้ศึกษาศาสนาได้เข้าใจชัดเจนและกว้างขวาง และสนับสนุนการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาให้แน่นแฟ้นมั่นคง สามารถทำให้อนุชนเป็นพลเมืองที่ดีและศาสนิกที่ดีได้โดยสมบูรณ์ . . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามภาคใต้
ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินรางวัล ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๗
วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๘

———————————————————————————————————-

King12. . . การจะเล่าเรียนหรือทำการใด ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยดีโดยตลอดนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงเป็นใหญ่ เพราะความตั้งใจจริงนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกำจัดความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ และความท้อถอย ได้อย่างดียิ่ง จะปลูกฝังความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียร และความเข้มแข็ง ให้เกิดเป็นนิสัย และนิสัยที่ดีที่ปลูกไว้แต่เยาว์วัย จะเป็นคุณสมบัติติดตัวไปในวันข้างหน้า จะช่วยพาตัวให้องอาจสามารถเอาชนะอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ได้โดยตลอด และประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในชีวิต . . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๗

———————————————————————————————————-

King54. . . ธรรมดาครูก็ปรารถนาความก้าวหน้าและความดีของลูกศิษย์ ก็ต้องมีความเข้าใจในลูกศิษย์ที่ดี ในเวลาเดียวกันลูกศิษย์ก็จะต้องพยายามที่จะเข้าใจว่าครูมีความปรารถนาอย่างไร ครูก็เป็นคนเหมือนกัน ถ้าสามารถที่จะทำให้ครูมีความรู้สึกว่าลูกศิษย์มีความนับถือและปรารถนาดีต่ออาจารย์และครูด้วย ก็ทำให้สามารถที่จะให้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมสละเวลา กำลังทุกประการ ที่จะให้ลูกศิษย์ก้าวหน้า และเมื่อลูกศิษย์ก้าวหน้า คือได้รับความรู้ดี ทั้งในวิชาการ ทั้งในความรู้รอบตัวในชีวิต ก็ปลื้มใจ . . .

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะครูที่ปรึกษาและคณะกรรมการจัดงานธารน้ำใจ”
วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๕

———————————————————————————————————-

King13. . . วิชาการต่าง ๆ ที่เรียนที่สอบไล่กันได้นั้น โดยลำพัง ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเอาตัวรอดได้ และไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใดให้เป็นประโยชน์แก่ตัว แก่ผู้อื่น แก่บ้านเมืองได้. ผู้มีวิชาการแล้วจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตนนำชาติให้รอดและเจริญได้. คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ได้แก่ ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ ความกตัญญูรู้คุณชาติบ้านเมือง และผู้ที่อุปการะตัวมา ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หากแต่มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน เอื้อเฟื้อกันตามฐานะและหน้าที่. และที่สำคัญอย่างมากก็คือ ความขยันหมั่นเพียรพยายามฝึกหัดประกอบการงานทั้งเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ทอดธุระ เพื่อหาความสะดวกสบายจากการเกียจคร้าน ไม่มักง่าย หยาบคาย สะเพร่า . . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒

———————————————————————————————————-

. . . ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่าง ๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริง ๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้ . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

———————————————————————————————————-

King61. . . วิชาความรู้อันพึงประสงค์นั้น ได้แก่วิชาและความรู้ที่ถูกต้อง จัดเจน แม่นยำ ชำนาญ นำไปใช้การเป็นประโยชน์ได้พอเหมาะพอควร ทันต่อเหตุการณ์ อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสร้างเสริมวิชาความรู้อย่างนี้ขึ้นได้อย่างไร เบื้องต้นจะต้องเลิกคิดว่า เรียนวิชาไว้เพื่อสอบไล่ เพราะในชีวิตของเรา เราไม่ได้อยู่กับการกาผิดกาถูกในข้อสอบ หากแต่อยู่กับการทำงานและการวินิจฉัยปัญหาสารพัด ทางที่ถูก เราจะต้องขวนขวายเปิดตาเปิดใจให้เรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งโดยทางกว้างและทางลึก คือเมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ให้พยายามจับเค้าโครงของเรื่องนั้นให้ได้ก่อน แล้วจึงพยายามมองลงไปในส่วนละเอียดทีละส่วน ให้เห็นชัดโดยถ้วนถี่ เมื่อรู้แล้ว ก็นำมาคิดพิจารณาให้เห็นประเด็น ให้เห็นส่วนที่เป็นเหตุ ส่วนที่เป็นผล ให้เห็นลำดับความเกาะเกี่ยวต่อเนื่องแห่งเหตุและผลนั้น ๆ ไปจนตลอด ให้เข้าใจโดยชัดเจนแน่นอน เพื่อให้สามารถสำเหนียกกำหนดและจดจำไว้ได้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักเป็นทฤษฎี ทั้งส่วนเรื่องราวหรือรายละเอียด จักได้สามารถนำไปสั่งสอนผู้อื่น และนำไปเทียบเคียงใช้ให้เป็นประโยชน์ในการงาน หรือการคิดอ่านแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตต่อไป . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๓

———————————————————————————————————

King60. . . การศึกษานี้ ถ้าดูกว้าง ๆ ก็มีความสำคัญอย่างยอดยิ่ง ทำให้รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในทางการศึกษาเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากแก่ชีวิตของมนุษย์ทั่ว ๆ ไปและถ้าโดยเฉพาะสำหรับบ้านเมือง ก็เป็นผู้ที่สร้างความมั่นคงของบ้านเมืองได้ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานหน้าที่ของตน ความสำคัญนี้ก็มีมากและก็คงตระหนักอยู่แล้ว ขอให้ตระหนักด้วยว่าจะต้องพยายามที่จะหาวิธีที่จะสั่งสอนอนุชนทั้งในด้านวิชาการทั้งในด้านความรู้เบื้องต้น เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้ จึงขอร้องให้สนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้ ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นขั้นก่อนอนุบาล จนกระทั่งเป็นความรู้ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดมศึกษา และขั้นค้นคว้าอย่างสูง และทุกความรู้มีความสำคัญทั้งนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกัน . . .

พระบรมราโชวาท
เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรี ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๕

———————————————————————————————————

King34. . . การที่บุคคลจะพัฒนาได้ก็ด้วยปัจจัยประการเดียวคือการศึกษา การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาด้านวิชาการส่วนหนึ่ง กับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ดีใฝ่เจริญ มีปรกติละอายชั่วกลัวบาป ส่วนหนึ่ง การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ไว้ใช้ประกอบการ และมีความดีไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่าง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร และอำนวยผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์ . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๐

———————————————————————————————————

King41. . . การที่จะหาความสุขหรือหาความเรียบร้อยประจำวันนี้สำคัญอยู่หลายทางและก็มีอยู่หลายอย่าง เช่นเรื่องการศึกษาของเยาวชน เรื่องการศึกษาวิทยาการทางโลก เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีความก้าวหน้าและสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ ความรู้นี้หมายถึงทางวัตถุ เพราะว่าคนเราก็ต้องการที่จะมีวิชาความรู้เพื่อที่จะทำมาหากินเลี้ยงชีพตัวเองเป็นสำคัญ ในเวลาเดียวกันความรู้ทางวัตถุนั้นก็ต้องประสานด้วยความรู้ทางจิตใจ หมายถึงวิธีที่จะคุ้มกันป้องกันร่างกายของตัวคือวัตถุต่อสิ่งที่ไม่เป็นวัตถุ ต่อนามธรรมที่เป็นจิตใจ คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกระหายอำนาจอันเป็นสิ่งที่ยากที่จะควบคุม เราต้องสอนทั้งสองอย่าง สอนวิทยาการเพื่อให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ นี่หมายความว่ามีอาชีพ มีความรู้ทางวัตถุ และต้องรู้จักควบคุมจิตใจ ควบคุมสติของตัวให้สามารถใช้ความรู้ทางวัตถุนี้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ประโยชน์ของตัวเองนี้ก็อยู่ที่ประโยชน์ของสังคมด้วย . . .

พระบรมราโชวาท
ในโอกาสที่สถาบันและองค์การที่เกี่ยวกับศาสนา
เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๑

———————————————————————————————————

King51. . . การที่จะอบรมสนับสนุนอนุชน ให้ได้ผลตามความมุ่งหมายของการศึกษานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการฝึกฝน และปลูกฝังความรู้จักเหตุผล ความรู้จักผิดชอบชั่วดีเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยกว่าการใช้วิชาการ เพราะการรู้จักพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผล ให้รู้จักจำแนกสิ่งผิดชอบชั่วดีได้โดยกระจ่างแจ้ง ย่อมทำให้มองบุคคล มองสิ่งต่าง ๆ ได้ลึกลงไป จนเห็นความจริงในบุคคลและในสิ่งนั้น ๆ เมื่อได้มองเห็นความจริงแล้วก็จะสามารถใช้ความรู้และวิชาการ ปฏิบัติงานทุกอย่างได้ดีและถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์แก่ตนแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

———————————————————————————————————

King56. . . วิชานั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ตามภาวะและความจำเป็นของโลก ก็ต้องแตกสาขากว้างขวางมากหลายเป็นธรรมดา จนบางทีทำให้แลไม่เห็นว่า วิชาสาขาต่าง ๆ มาจากต้นตออันเดียวกัน และลืมไปว่า วิชาแต่ละสาขานั้นมีความสัมพันธ์กันสอดคล้องกันอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ ที่สุด วิชาก็ขาดตอนจากกัน คนที่เรียนและที่ใช้วิชานั้น ๆ ก็ไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ไม่ปรองดองกัน ยังผลให้การงานติดขัดบกพร่อง และเสียประโยชน์ที่พึงได้ไปด้วยประการต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ฉลาดจึงควรต้องพยายามศึกษาให้เห็นจริง และให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า วิชาทั้งหลายเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นส่วนประกอบของกันและกัน เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกันอย่างแน่นแฟ้น แล้วพยายามดึงเอาวิชาการ บุคคล กับทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกัน มารวมกัน ส่งเสริมกัน เพื่อผลและประโยชน์อันเลิศร่วมกันของเรา . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๘

———————————————————————————————————

King24. . . การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุก ๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด . . .

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔

———————————————————————————————————

King67. . . การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างนั้นต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพื้นฐานเดิมก่อน. เมื่อได้ศึกษาทราบชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึงรักษาส่วนที่ดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้ แล้วพยายามปรับปรุงสร้างเสริมด้วยหลักวิชา ด้วยความคิดพิจารณา อันประกอบด้วยเหตุผลและความสุจริตจริงใจ ให้ค่อยเจริญงอกงามมั่นคงบริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ และตามกำลังเศรษฐกิจที่มีอยู่. การงานทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองจึงจะเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก. หาไม่ ความขัดข้องล่าช้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้ต้องสิ้นเปลืองกำลังงาน กำลังสมอง กำลังเงินทองไปอย่างน่าเสียดายโดยไม่มีโอกาสจะกู้กลับคืนมาได้ . . .

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น