มิถุนายน 28, 2552

***พระบรมราโชวาทในหลวงต่อการศึกษา***

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ วิทยาลัยวิชาการศึกษา 15 ธันวาคม 2503

"...ผุ้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ ความรู้ในทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้อง รู้จักอบรมเด็นทั้งในด้าน ศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึก รับผิดชอบในหน้าที่ด้วย..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูใหญ่และนักเรียน ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต 22 กรกฎาคม 2520

"...การศึกษาเป็นเครื่องอันสำคัญในการพัฒนา ความรู้ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคลเพื่อให้เป็น พลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบ ไปด้วย พลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศ ชาติก็ย่อม ทำให้ได้โดยสะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอน และรวดเร็ว..."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 พฤศจิกายน 2528

"...การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทุกอย่างนั้น ต้องเริ่มต้นที่ การศึกษาพื้นฐานเดิมก่อน เมื่อได้ศึกษาทราบ ชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึง รักษาส่วนดีที่มีอยู่แล้วให้คงไว้ แล้วพยายาม ปรับปรุงสร้างเสริมด้วยหลัก วิชา อันประกอบด้วยเหตุผลและความสุจริตจริงใจ ให้ค่อยเจริญงอกงามมั่นคงบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป..."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2532

"...คสามรู้ที่ใช้ได้ผลนั้น ต้องเป็นความรู้ ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ นำมาใช้การได้ทันที และนอกจากความรู้ด้าน ลึก คือ วิชาเฉพาะสาขาที่ ศึกษามาโดยตรงแล้ว ความรู้ด้านกว้าง คือ วิชาการอื่นๆ ทั่วไป ย่อม เป็นปัจจัยประกอบส่งเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย..."

พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในวันการศึกษาสัมพันธ์ ณ วิทยาลัยวิขาการศึกษาประสานมิตร 15 มีนาคม 2512

"...ผู้ที่เป็น ครู จะต้องนึกถึงความรับผิดชอบ เพราะว่าถ้าเป็นครูแล้วลูกศิษย์จะต้องนับถือ ได้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่งมาสอนอีกอย่างหนึ่ง..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส 28 ตุลาคม 2523

"...ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและ อุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อนไปตามอำนาจอคติ..."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์ทั่วราชอาณาจักร ณ ศาลาผกาภิรมย์ 8 พฤษภาคม 2513

"...ครูจะต้องตั้งใจในความดีอยู่ตลอดเวลา แม้จะเหน็ดเหนื่อย เท่าไรก็จะต้องอดทนเพื่อพิสูจน์ว่าครูนี้เป็นที่ เคารพสักการะได้ แต่ถ้าครู ไม่ตั้งตัวในศีลธรรมถ้าครูไม่ทำตัวเป็น ผู้ใหญ่เด็กจะเคารพได้อย่างไร..."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนไกลกังวล ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน 24 พฤษภาคม 2513

"...ครูนั้นจะต้องให้ความรู้แก่เด็กๆ ด้วยความเมตตา ด้วย ความหวังดี คือ ด้วยความเมตตาต่อผู้เป็น ลูกศิษย์ และด้วยความหวังดี ต่อส่วนร่วม เพราะถ้าส่วนรวมประกอบด้วยบุคคล ที่มีความรู้ดี ส่วนรวมก็ไปรอด..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรมพลาซ่า นิวยอร์ค 8 มิถุนายน 2510

"...การที่ได้มีโอกาสมาเรียนในต่างประเทศ นับว่าเป็นประโยชน์ เพราะหลายประเทศ มีความก้าวหน้าในด้านวิชาการแต่ควรจะพิจารณา ด้วยสติปัญญาว่า อะไรที่ควรรับมาเป็น ประโยชน์แก่บ้านเมือง แล้วนำ เอาวิชาความรู้กลับไปช่วยบ้านเมือง..."

พระราชดำรัส ในพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์ของ มหาวิทยาลัยวิมเลียมส์ ณ วิมเลียมทาวน์ นครนิวยอร์ค 11 มิถุนายน 2510

"...โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้น ก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไปควรพิจารณาดู เหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงแนะให้ใช้สติ และปัญญา ศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอน นั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ให้สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้..."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 ธันวาคม 2512

"...การพึ่งตนเองนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติประจำ บุคคลสองอย่าง คือความสามารถนำวิชาการที่ได้ศึกษามาใช้ใน การปฏิบัติงาน กับความ ฉลาดที่จะวินิจฉัยให้เห็นทางเสื่อมทางเจริญพร้อม ทั้งทางที่จะให้พ้น ความเสื่อมเพื่อดำเนินไปให้ถึงความเจริญ..."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพระองค์การศาสนา คณะครูและนักเรียน วันที่ ๔ นวาคม ๒๕๑๓

"...การที่เกิดปัญหาเยาวชนก็เห็นได้ว่ามาจากกลุ่มเด็กเพิ่มจำนวน แล่วก็กลุ่มผู้ใหญ่ก็นับว่าลดจำนวน ไม่สมดุลย์กัน การที่พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าผู้สอนน้อยกว่าผู้ที่รักการสอน การแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ผู้รับการสอนที่มากพอใช้แล้ว สอนผู้ที่รับการสอนน้อยกว่าหน่อย หมายถึงว่าถ่ายทอดวิชาซึ่งกันและกันต่อๆ ไปตามความสามารถด้วยความสามัคคี ไม่ใช่จะค่อยให้ผู้ที่เรียกว่าผู้ใหญ่มาสอนกลุ่มผู้เรียกว่าเด็ก ต้องสอนถ่ายทอดกันมาเรื่อย ผู้ที่มีความรู้มากกว่าในวิชาแต่ละวิชาก็สอนผู้ที่มีวิชาน้อยลงไปเป็นขั้นๆ เป็นทอดๆ ดังนี้จะไม่เกิดปัญหาเยาวชน...

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนองค์การศาสนา คณะครู และนักเรียน วันที่ ๔ นวาคม ๒๕๑๓

"......ในต่างประเทศชองพูดถึง Generation Gap คือช่องโหว่ระหว่าง Generation หรือรุ่นอายุนั้น ในเมืองไทยนี้ไม่มี เพราะว่าพ่อแม่ก็สอนน้องของตัว คือหมายความว่าน้อง อากับน้า แล้วก็ทอดลงมา อากับน้าก็มาสอนหลานของตัวซึ่งอายุไม่ได้ต่างกันเท่าไร ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็สอนลูกหลาน พี่ก็สอนน้อง ถ่ายทอดมาเรื่อย ก็ไม่มี Generation Gap แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี ที่เขามีนั้น เขาคิดค้นขึ้นมาเองเพื่อให้ครึกครื้นสนุก เพื่อให้มีเรื่องที่จะตีหัวกัน ไม่ได้มีประโยชน์อะไรใด ๆ เลย...

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔

"......ทุกวันนี้ คนทั่วไปนิยมยินดีอย่างมาก ในความคิดและการกระทำโดยอิสระเสรี เด็กก็ได้รับการส่งเสริมและสั่งสอนให้ทำให้คิดอย่างอิสระ การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขาก็มีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพ และความเป็นปรกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีแต่ความยุ่งยาก จะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง...

พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุมจุใลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๔

"...โดยมากการเสพยาเสพติดเริ่มด้วยความกดดันหรือความท้อใจ และบังเอิญมีผู้ที่แนะทางบอกว่า ลองเสพเสียนิดหน่อยทำให้สบายดี ผู้ที่ฟังก็บอกว่าเราเป็นผู้ที่มีความรู้ เราเป็นคนฉลาด เราก็ทดลอง ถ้าใช้ได้ก็ลองใช้ไป ถ้าใช้ไม่ได้ก็เลิกได้ แต่ข้อสำคัญหารู้ไม่ว่าเลิกลำบากเหมือนกัน แล้วก็จะติดจริงๆ และจะทำให้เกิดผลไม่ดีสำหรับร่างกายของตน สำหรับสังคมของตน และสถาบันของตน...

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ วิทยาลัยวิชาการศึกษา วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

"...ขณะนี้รู้สึกกันทั่วไปว่า มีปัญหาเยาวชนในบ้านเมืองมากขึ้นเนื่องจากเหตุหลานกระแส ความจริง เยาวชนมิได้ต้องการที่จะทำตัวให้ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่โดยเหตุที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร และขาดที่พึ่ง ขาดผู้ที่จะให้ความรู้ ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เขาจึงต้องกลายไปเป็นบุคคลที่เป็นปัญหาแก่สังคม

เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์เป็นผู้บริหารการศึกษาที่จะต้องช่วยเหลือเขาด้วยหลักวิชาและความสามารถ ทุกคนได้เรียนวิชาการแนะแนวมาแล้ว ควรจะได้นำหลักการมาปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับประโยชน์อันแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะแนวทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งสำคัญมาก ขอให้เพียรพยายามปลูกฝังความรู้ความคิดที่ปราศจากโทษให้แก่เขาโดยเสมอหน้า แนะนำอบรมด้วยเหตุผลและด้วยความจริงใจ ประกอบด้วยความเมตตาปรานี สงเคราะห์อนุเคราะห์และนำพาไปสู่ทางที่ถูกที่เจริญ เยาวชนก็จะเกิดมีความมั่นใจและมีกำลังใจที่จะทำความดี เพื่อจักได้มีอนาคตที่มั่นคงแจ่มใสในวันข้างหน้า...

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

"...เยาวชนทุกคนมิได้ต้องการทำตัวให้ตกต่ำหรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใดแท้จริงต้องการเป็นคนดีมีความสำเร็จ มีฐานะ มีเกียรติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น แต่การที่จะบรรลุถึงประสงค์นั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้แนะนำควบคุมให้ดำเนินไปโดยถูกต้อง ในฐานะหน้าที่ที่เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้บริหารการศึกษา ท่านจะช่วยเขาได้มากที่สุด เพราะมีส่วนควบคุมดูแลใกล้ชิดอยู่ทุกๆ ด้านรองลงมาจากบิดามารดา ด้งนั้น จึงใคร่ขอให้ท่านทำตัวเป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพียรพยายามใช้วิชาความสามารถที่มีอยู่ฝึกฝนอบรมด้วยเหตุผลและความฉลาด ด้วยความกรุณาปรานีและความบริสุทธิ์ใจ ประสิทธิประสาทความรู้ความคิดที่ดีที่ปราศจากโทษให้เสมอหน้า อนุเคราะห์และนำพาไปในทางถูกทางเจริญ เพื่อช่วยให้เยาวชนของเรามีอนาคตอันมั่นคงแจ่มใสต่อไป...

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานปีใหม่ ๒๕๑๕ ขององค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๕

"...ในขณะนี้นักศึกษาในเมืองไทยยังมีสมองที่แจ่มใส ที่มีเหตุผล ก็เชื่อว่าถ้ารักษาความมีเหตุผล ความมีเกียรติในสถาบันการศึกษา ก็จะทำให้มีชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะใดๆ ด้วยความนับถือที่แท้จริงโดยปราศจากการคล้อยตามความยุแหย่ต่างๆ ทั้งในด้านความประพฤติทั้งในด้านทำลายความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ซึ่งถ้ารักษาด้วยความตั้งใจด้วยความอดทน จะได้ทำประโยชน์อย่างปรารถนาที่จะทำในเมื่อสำเร็จการศึกษา จะได้ทำเต็มที่และด้วยความสามารถจริงๆ ที่กล่าวเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุผลว่าเป็นห่วงนักศึกษาและผู้ที่สนใจในการเรียน ว่าเป็นอยู่ในฐานะที่ลำบาก เพราะว่าเต็มไปด้วยความยุ่งยาก การล่อลวงและการยุแหย่คล้ายๆ ว่าเป็นบุคคลที่กำลังอยู่ในที่ทุกคนเพ่งเล็งทั้งในทางดีทางเลว จึงขอร้องให้ทุกคนประกอบด้วยปัญญาที่เฉียบแหลมจริงๆ ด้วยความตั้งใจเข้มแข็งแข็งแกร่งที่จะต่อสู้ ทั้งในด้านหลักวิชา คือการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก ทั้งในการต่อสู้กับตนเองในความเหนื่อย ในความท้อถอย คือบางทีก็อาจมีความไม่ดีอยู่ในตัว บอกว่าขี้เกียจเสียดีกว่าที่จะทำงาน เราต้องเข้มแข็ง ต้องตั้งใจที่จะต่อสู้ศัตรูทั้งภายนอกภายใน เพื่อที่จะให้สำเร็จตามจุดประสงค์ของการเป็นนักศึกษา เพื่ออนาคตของตัว เพื่ออนาคตของบ้านเมือง...

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๖

"...ปรกติผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยมีพลังทางสมองมาก ทำให้เกิดความกระตือรือร้นต้องการทราบ ต้องการแสดงความคิดความเห็น ต้องการริเริ่มและกระทำสิ่งต่างๆ ที่ตัวสนใจและพอใจทุกอย่าง พูดสั้นๆ คือต้องการที่จะแผ่กำลังทางสมองของตนออกไปเต็มที่ทุกๆ ทาง แต่ขณะเดียวกัน ต่างคนก็ต้องเล่าเรียนวิชาการอีกมากมาย ให้สำเร็จตามหลักสูตร เพื่อให้มีรากฐานทางความรู้ที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับจะใช้การต่อไป ทั้งเพื่อให้ได้รับปริญญาบัตรด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องข่มใจ อดกลั่น และเหนี่ยวรั้งตนเองไว้ ไม่ให้หันเหไปในกิจกรรมอันพ้นหลักสูตรจนเกิดประมาณ และต้องพยายามรวมกำลังทางสมองที่จะกระจัดกระจายไปนั้น มาลงในกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุด คือการเล่าเรียน ให้สำเร็จเป็นบัณฑิตก่อน......"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น